สรรพคุณของดอกคาโมมายล์ ดีต่อร่างกายและจิตใจ มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ!!!

สรรพคุณของดอกคาโมมายล์ ดีต่อร่างกายและจิตใจ มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ!!!
27/04/24 09:33 2,187 ผู้เข้าชม 2 ครั้งที่แชร์

ตั้งแต่ยุคอียิปต์โบราณ กรีก และโรมัน มีการใช้ดอกคาโมมายล์เป็นสมุนไพรมานานนับพันปี ในทวีปยุโรปดอกคาโมมายล์เป็นสมุนไพรที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เพราะมีสรรพคุณมากมายได้แก่ ทำให้สงบ คลายกังกล ช่วยให้หลับ ลดอาการระคายเคืองทางเดินอาหาร ขับลม ลดอาการปวดเกร็งท้อง ลดการปวดประจำเดือน ต้านการอักเสบในช่องปาก คอ ผิวหนัง และช่วยสมานแผล น้ำมันจากดอกคาโมมายล์มีกลิ่นคล้ายแอฟเปิ้ล นอกจากสรรพคุณทางยาแล้วยังมีการใช้น้ำมันจากดอกคาโมมายล์มาแต่งกลิ่นในอาหารและเครื่องสำอางอีกด้วย

ดอกคาโมมายล์ มีสรรพคุณทางยามากมาย เพราะในดอกคาโมมายล์ประกอบด้วยสารที่มีประโยช์หลากหลายกลุ่ม ได้แก่ สารกลุ่มฟลาโวนอยด์ (flavonoids) เช่น apigenin, quercetin, patuletin, luteolin และ flavonoid glucosides สารกลุ่มคูมารินส์ (coumarins) เช่น herniarin และ umbelliferone และน้ำมันหอมระเหย (volatile oils) เช่น (-)-alpha-bisabolol มากกว่า 50%, chamazulene 1-15%, (-)-alpha-bisabolol oxides A และ B, cis- และ trans-en-yn-dicycloethers) นอกจากนี้ยังพบสารอื่น ๆ ได้แก่ กรดฟีโนลิก (phenolic acids) และ GABA (gamma aminobutyric acid) มีการค้นพบจากรายงานการวิจัยในทางเภสัชวิทยาว่าสารดังกล่าวมีฤทธิ์ที่ช่วยคลายวิตกกังวล ยับยั้งอาการอักเสบ ลดอาการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อ ช่วยสมานแผล ต้านออกซิเดชัน และต้านเชื้อจุลชีพ

ฤทธิ์ของดอกคาโมมายล์ ที่มีผลต่อระบบประสาท คลายกังวล ทำให้สงบ ทำให้หลับ

ดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์คลายวิตกกังวล ทำให้สงบอ่อนๆ และทำให้นอนหลับดีขึ้น โดยพบว่าสารออกฤทธิ์ที่สำคัญของดอกคาโมมายล์คือ apigenin ออกฤทธิ์โดยการจับกับ benzodiazepine receptors นอกจากนี้ยังพบสาร GABA ปริมาณเล็กน้อย ซึ่ง GABA เป็นสารสื่อกระแสประสาท (neurotransmitter) ทำหน้าที่รักษาสมดุลในสมอง ช่วยเกิดการผ่อนคลาย

การสูดดมน้ำมันจากดอกคาโมมายล์มีผลลดความเครียดในหนูที่ถูกตัดรังไข่ โดยลดระดับของฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิค (adrenocorticotrophic hormone : ACTH) นอกจากนี้การสูดดมน้ำมันจากดอกคาโมมายล์ร่วมกับการได้รับยาไดอะซีแพม (diazepam) จะช่วยลดระดับ ACTH โดยผลนี้ถูกยับยั้งโดยยาฟลูมาซีนิล (Flumazenil) ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม GABA receptor antagonist ดังนั้นน้ำมันจากดอกคาโมมายล์น่าจะออกฤทธิ์เป็น benzodiazepam agonist และมีผลต่อระบบ GABA ergic ในสมอง

การทดลองทางคลินิกในประเทศญี่ปุ่นพบว่า การรับประทานเจลลี่คาโมมายล์มีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจ ทำให้อารมณ์ดี การศึกษาในผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวลระดับปานกลางและประเมินด้วยแบบวัดภาวะวิตกกังวล Hamilton Anxiety Rating Scale (HAM-A) พบว่าการรับประทานสารสกัดดอกคาโมมายล์ติดต่อกันเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ช่วยลดอาการวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญ

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ (antiinflammatory) ของดอกคาโมมายล์

มีรายงานการวิจัยพบว่าสารสกัดดอกคาโมมายล์ด้วยน้ำ และแอลกอฮอล์ น้ำมันหอมระเหย และสารกลุ่มฟลาโวนอยด์ และเทอร์พีนอยด์ที่เป็นองค์ประกอบในสารสกัดและน้ำมันหอมระเหยจากดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง

อีกทั้งยังมี การค้นพบจากการศึกษาฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ผิวหนังของดอกคาโมมายล์ในอาสาสมัคร ว่าครีมและขี้ผึ้งคาโมมายล์ใช้ภายนอก มีต้านการอักเสบได้ดีเมื่อเทียบกับยาขี้ผึ้ง hydrocortisone 

ฤทธิ์ต่อระบบทางเดินอาหารของดอกคาโมมายล์ ช่วยต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และรักษาแผลในทางเดินอาหารได้

นอกจากนี้สารสกัดและน้ำมันหอมระเหยจากดอกคาโมมายล์ และสารที่เป็นองค์ประกอบมีฤทธิ์ต้านการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อลำไส้ของสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำให้เกิดการหดเกร็งด้วยสาร acetylcholine และ histamine แต่มีฤทธิ์อ่อนกว่า papaverine

สารสกัดดอกคาโมมายล์ด้วยเอทานอลในน้ำและสาร (-)-alpha-bisabolol สามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารสัตว์ทดลองที่เหนี่ยวนำด้วย indromethacin ความเครียด และแอลกอฮอล์ โดยสามารถลดความเป็นกรดและเพิ่มปริมาณมิวซินในกระเพาะอาหาร

นอกจากนี้สารในดอกคาโมมายล์ยังช่วยลดอาการปวดเกร็งท้อง และลดอาการปวดประจำเดือนในสุภาพสตรีได้

ฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ (antimicrobial) ของดอกคาโมมายล์

น้ำมันและสารจากดอกคาโมมายล์มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัสก่อโรคหลายชนิด โดยพบว่าสาร (-)-alpha-bisabolol และน้ำมันคาโมมมายด์มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus, Bacillus subtilis เชื้อรา Candida albicans และน้ำมันยังมีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสเริม (herpes simplex virus) นอกจากนี้สารสกัดคาโมมายล์ยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคหลายชนิดได้แก่ Staphylococcus aureus, Staphylococcus mutans, Staphylococcus salivarious, Bacillus megatherium, Leptospira icterohaemorrhagiae และ Campylobacter jejuni

 

ดังที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่าดอกคาโมมายล์นั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายมากมายทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งผลข้างเคียงจากการใช้ดอกคาโมมายล์พบน้อยมาก ซึ่งอาจพบได้ในผู้ที่แพ้ดอกคาโมมายล์หรือพืชในตระกูลเดียวกัน (Asteraceae) เท่านั้น ซึ่งจะมีอาการผิวหนังอักเสบ จาม น้ำมูกไหล ลิ้นและริมฝีปากบวม แต่ไม่พบการระคายเคืองผิวหนังจากการใช้ภายนอก จากการทดลองไม่พบความเป็นพิษในสัตว์ทดลองที่ได้รับสารสกัดดอกคาโมมายล์ติดต่อกันเป็นเวลานาน ดังนั้นการใช้ดอกคาโมมายล์จากธรรมชาติเพื่อการบำบัดร่างกายจึงปลอดภัยในระยะยาวมากกว่าการใช้สารเคมี

 

อ้างอิงจาก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภญ. ณัฏฐินี อนันตโชค ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Thaihealth

สาระน่ารู้แนะนำ
สินค้าแนะนำ

สมัครรับข่าวสารเรื่องสุขภาพจาก Healthy Dee