ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เผยผู้สูงวัย สมองเสื่อม 8 แสนกว่าคน 90% มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจซ้ำซ้อน

ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เผยผู้สูงวัย สมองเสื่อม 8 แสนกว่าคน 90% มีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจซ้ำซ้อน
09/12/24 14:47 926 ผู้เข้าชม 4 ครั้งที่แชร์

จากข่าวที่ติดตามมาจากกรมสุขภาพจิตนั้น ทำให้ Healthy Dee อยากนำข้อมูลนี้มาแชร์ให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน เพราะจากข้อมูลผู้สูงวัยกว่า 8 แสนคน ที่มีปัญหาสมองเสื่อม เผื่อจะได้นำข้อมูลนี้ไปป้องกันและช่วยเหลือผู้สูงวัยกันได้นะคะ

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมสุขภาพจิตเผยขณะนี้พบผู้สูงวัยไทยสมองเสื่อมกันมากถึง 8 แสนกว่าคน พบได้ทุกๆ 8 คนในผู้สูงอายุ 100 คน ภัยที่ตามมาติดๆคือมีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจผิดปกติสูงถึงร้อยละ 90 พบได้บ่อย 9 อาการ อาทิ เฉยเมย ซึมเศร้า ก้าวร้าว กินนอนผิดปกติ หากพบให้รีบปรึกษาสถานพยาบาลใกล้บ้าน พร้อมทั้งแนะให้ผู้ดูแลยึดหลักปฏิบัติ 8 วิธี และควรทำสร้อยคอที่มีป้ายชนิดถาวรบอกว่าเป็นผู้สูงอายุที่มีปัญหาด้านความจำ พร้อมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมของผู้สูงวัย สถิติของกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2559 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จำนวน 9.9 ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งประเทศที่มี 65.9 ล้านคน ปัญหาที่ตามมาและมักพบในสังคมผู้สูงอายุมากกว่ากลุ่มวัยอื่นๆคือ ภาวะสมองเสื่อม (dementia) โดยผู้ป่วยจะมีการเสื่อมถอยความสามารถของสมองในหลายๆด้าน เช่น สูญเสียความจำ สมาธิ ความสามารถทางสติปัญญาลดลง คิดและจำเรื่องที่เป็นปัจจุบันไม่ได้ มีอาการหลงลืม ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งอาการหลงลืมนั้นสามารถเกิดขึ้นในคนทั่วไปที่มีความเครียดวิตกกังวลหรือเร่งรีบได้ เรียกว่าสมองเสื่อมเทียม อาการจะเกิดขึ้นชั่วคราวแล้วจะค่อยๆนึกได้ในภายหลัง แต่ในผู้ที่สมองเสื่อมจะจำไม่ได้เลย ผลสำรวจของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขโดยการตรวจร่างกายครั้งล่าสุดในปี 2557 พบผู้สูงอายุ 60ปีขึ้นไป มีภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 8.1 คาดว่าขณะนี้มีประมาณ 8 แสนกว่าคนทั่วประเทศ พบในผู้หญิงมากว่าชาย อายุยิ่งมากยิ่งพบมาก

อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ปัญหาที่พบบ่อยในผู้ป่วยสมองเสื่อมนอกจากเป็นเรื่องของความจำแล้ว ยังพบว่าร้อยละ 90 หรือประมาณ 7 แสนกว่าคนมีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจร่วมด้วย จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงขณะที่ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย หากไม่มีการดูแลตัวเองเพื่อป้องกันตั้งแต่เนิ่นๆที่ยังไม่เข้าสู่วัยสูงอายุ คาดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคนี้อาจเพิ่มขึ้นนับล้านคน และมีปัญหาพฤติกรรมและจิตใจเพิ่มขึ้นนับแสนคน เป็นเรื่องที่บั่นทอนสุขภาพจิตและเป็นภาระให้แก่ผู้ดูแลและครอบครัวเป็นอันมาก ประการสำคัญหากผู้ดูแลขาดความรู้ความเข้าใจในอาการผู้ป่วย ผู้ป่วยบางคนอาจถูกทารุณกรรมหรือถูกทอดทิ้งได้ ได้มอบหมายให้โรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเรื่องโรคจิตเวชในผู้สูงอายุของกรมสุขภาพจิต เร่งให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนโดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้สูงอายุมีภาวะสมองเสื่อมในขณะนี้

ด้านนายแพทย์จุมภฎ พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ต่อปีมีผู้ป่วยสมองเสื่อมเข้ารักษาที่โรงพยาบาลฯประมาณ 500 คน มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยพบว่าเกือบทุกคนจะมีอาการผิดปกติทางพฤติกรรมและจิตใจอย่างน้อย 1 อาการร่วมด้วย ที่พบบ่อย 9 อาการได้แก่ 1.เฉยเมยไม่สนใจสิ่งรอบตัว พบได้ร้อยละ 70 , 2.ภาวะซึมเศร้าพบได้ร้อยละ 40-50 ,3.ปัญหาด้านการกินร้อยละ 40-50 ,4.ปัญหาด้านการนอนร้อยละ 30-50 , 5.อารมณ์หงุดหงิด โกรธง่ายร้อยละ 40 ,6.อาการหลงผิด ร้อยละ 30-40 ,7.ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจพฤติกรรมได้ ร้อยละ 30-40 , 8.มีพฤติกรรมแปลกๆทำอะไรซ้ำๆเช่นผุดลุกผุดนั่ง สะสมของในบ้าน พบร้อยละ 30-40 และ 9.หูแว่ว ประสาทหลอน เช่นเห็นผีพบได้ร้อยละ 20-30 หากประชาชนพบผู้ป่วยสมองเสื่อมในบ้านมีอาการที่กล่าวมา ควรพาไปปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง

นายแพทย์จุมภฎ กล่าวต่อว่าในส่วนของผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม

ขอแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้

  1. ควรทำความเข้าใจกับภาวะสมองเสื่อมให้ดีเพื่อที่จะสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
  2. แก้ไขอาการและพฤติกรรมที่เป็นปัญหามากที่สุดก่อน เนื่องจากการแก้ปัญหาหลายอย่างพร้อมกันอาจทำได้ยาก
  3. พยายามทำจิตใจให้สดใส และพักผ่อนให้เพียงพอ
  4. อย่ายึดติดกับความถูกต้องทั้งหมด ควรยืดหยุ่น เช่นถ้าผู้สูงอายุต้องการจะสวมหมวกเวลานอน ก็ไม่ควรห้าม เนื่องจากไม่ได้เป็นสิ่งที่อันตราย
  5. พยายามจัดรูปแบบการดูแลที่สม่ำเสมอ ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา เพื่อให้ผู้สูงวัยเรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อย
  6. พยายามพูดสื่อสารกับผู้สูงวัยเป็นประจำ อธิบายสั้นๆว่ากำลังทำอะไรทีละขั้นตอน
  7. มีรูปของผู้ป่วยที่ถ่ายไว้ล่าสุดเพื่อใช้ตามกรณีผู้ป่วยสูญหาย ควรจัดทำสร้อยคอที่มีป้ายถาวรบอกว่าเป็นผู้สูงวัยมีปัญหาด้านความจำ และระบุหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อกลับ
  8. พยายามให้ผู้สูงวัยได้ทำกิจกรรมต่างๆบ้าง เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและ ให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีความหมายและมีส่วนร่วมในครอบครัว

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุสมองเสื่อมเกิดปัญหาพฤติกรรมและจิตใจ อาจเกิดมาจากการมีพยาธิสภาพบางอย่างเกิดในสมองผู้ป่วย การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาท หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารถึงสิ่งที่ตนต้องการได้ เช่น หิว เจ็บปวด กลัว เครียด เป็นต้น รวมทั้งอาจเกิดมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เช่น สภาพอากาศร้อน เสียงดัง ผู้คนพลุกพล่านรบกวน แสงสว่างไม่พอ เป็นต้น นายแพทย์จุมภฎกล่าว

แหล่งที่มา: เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต

สาระน่ารู้แนะนำ
สินค้าแนะนำ

สมัครรับข่าวสารเรื่องสุขภาพจาก Healthy Dee